งานฐานรากได้มาตรฐานและมั่นคง สู่โครงสร้างที่แข็งแรงและยั่งยืน
เจาะสำรวจดินก่อนเริ่มโครงการ เพื่อความประหยัดและปลอดภัย
เจาะสำรวจดิน (Soil Boring Test) ทำไปทำไม?
หากเรายังไม่สามารถมองทะลุปรุโปร่งไปยังชั้นดินหรือยังไม่มีข้อมูลอื่นใดที่เชื่อถือได้มาอ้างอิง การเจาะสำรวจดินหรือการทำ Boring Test จึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลของชั้นดินในสถานที่ที่จะมีการก่อสร้างที่ดีที่สุด เนื่องจากการเจาะสำรวจดินสามารถให้ข้อมูลทางด้านปฐพีกลศาสตร์ที่เพียงพอสำหรับวิศวกรผู้ออกแบบนำไปวิเคราะห์รูปแบบของฐานรากที่เหมาะสมกับขนาดของสิ่งก่อสร้าง รวมไปถึงประเภท ขนาดและความยาวของเสาเข็ม นั่นก็จะส่งผลให้โครงสร้างมีความปลอดภัยและช่วยควบคุมต้นทุนสำหรับงานฐานรากได้ดียิ่งขึ้น
การเจาะปั่น
(Rotary Drilling)
การเจาะปั่น (Rotary Drilling) เป็นวิธีการเจาะสำรวจดินโดยอาศัยกำลังจากเครื่องจักรและแรงกดจากระบบไฮดรอลิก ซึ่งจะทำให้มีกำลังเพิ่มขึ้นมากกว่าการเจาะโดยใช้แรงคนเพียงอย่างเดียว ทำให้มีขีดความสามารถในการเจาะทะลวงได้ลึกขึ้นและยังสามารถเจาะผ่านชั้นหินได้อีกด้วยเพียงทำการเปลี่ยนเป็นหัวสำหรับเจาะหิน (Coring Drill Bit)
การเจาะล้าง
(Wash Boring)
การเจาะล้าง (Wash Boring) เป็นวิธีการเจาะสำรวจดินที่นิยมใช้กันมากที่สุดสำหรับงานก่อสร้างทั่วไป เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำ และเป็นเครื่องมือที่สามารถปฎิบัติงาน ประกอบและเคลื่อนย้ายได้ง่าย แม้ว่าจะมีความสามารถในการเจาะที่จำกัดเนื่องจากใช้แรงงานคนเป็นหลัก แต่ก็เพียงพอสำหรับโครงสร้างขนาดเล็กทั่วๆไป
การหาความแน่นของวัสดุ
(Field Density Test)
การหาความแน่นของวัสดุ (Field Density Test) เป็นการทดสอบค่าความหนาแน่นของวัสดุที่บดอัดในสนาม (In-Place Density Test) ส่วนใหญ่จะทำการทดสอบในงานทาง (งานถนน) และงานพื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slab on Ground) โดยวิธีใช้ทรายแทนที่วัสดุที่ขุดออกจากหลุมทดสอบ (Sand Replacement หรือ Sand Cone Method)
การทดสอบแรงอัดแกนเดียว
(Unconfined Compression Test)
การทดสอบแรงอัดแกนเดียว (Unconfined Compression Test : UC) เป็นวิธีทดสอบเพื่อหาค่ากำลังของดินเหนียวอ่อนถึงแข็งปานกลาง (Soft - Medium Clay) โดยให้แรงกระทำในแนวดิ่งและไม่คำนึงถึงแรงดันด้านข้าง โดยนำตัวอย่างดินที่เก็บโดยกระบอกบาง (Thin Walled Tube) ซึ่งเป็นตัวอย่างดินคงสภาพมาตัดแต่งโดย Trimming Frame ให้ได้ขนาดแล้วนำไปทดสอบโดยจะทำการจดบันทึกการหดตัวจาก Dial Gage และแรงที่กระทำกับตัวอย่างดินจาก Proving Ring เพื่อนำค่าที่บันทึกได้นำไปคำนวณหาค่า Cohesion (C)
การหาขนาดของอนุภาคโดยวิธีร่อนผ่านตะแกรง
(Sieve Analysis)
การหาขนาดของอนุภาคโดยวิธีร่อนผ่านตะแกรง (Sieve Analysis) เป็นวิธีการทดสอบเพื่อจำแนกประเภทของดินตามมาตรฐาน Unified Soil Classification System (USCS) โดยการนำตัวอย่างดินมาร่อนผ่านตะแกรงที่มีช่องเปิดที่มีขนาดแตกต่างกันและชั่งน้ำหนักของวัสดุที่ค้างอยู่บนตะแกรงเพื่อหาค่า % Passing หรือ % Retained เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกับค่าที่ได้จากการทดสอบ Atterberg's Limit และนำไปจำแนกประเภทของดินต่อไป นอกจากนี้ก็ยังสามารถใช้ข้อมูลที่ได้เพื่อจำแนกตามมาตรฐานของ AASHTO ได้อีกด้วย